ตะกร้าสินค้า - Cart

MEDIA CENTER

NEWSROOM

แบ่งบันข้อมูลได้ที่ :

TCC ดำเนินธุรกิจโดยปราศจากการใช้แรงงานลิงในกระบวนการผลิตผ่านการรับรองจากหน่วยงานภายนอกที่น่าเชื่อถือ

นับเป็นเวลากว่า 40 ปีที่บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด (TCC) เป็นผู้ผลิตสินค้ากะทิอันดับหนึ่งของประเทศ ด้วยแรงผลักดันจากวิสัยทัศน์ที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นในการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านมะพร้าวของโลก ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมที่น่าเชื่อถือและให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานที่โปร่งใส ทุกขั้นตอนเต็มไปด้วยคุณภาพและมาตรฐาน TCC ยังมุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในระดับภาคอุตสาหกรรม

 

หนึ่งในวิธีที่ TCC กำลังเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลง คือ การบุกเบิกและส่งเสริมการเก็บเกี่ยวมะพร้าวโดยไม่ใช้แรงงานลิงทั่วทั้งภาคอุตสาหกรรม TCC ริเริ่มเป็นผู้นำในกลุ่มบริษัทต่างๆ เกษตรกร และซัพพลายเออร์ของไทย เพื่อนำไปสู่แนวทางแก้ปัญหาที่ผนวกทั้งนวัตกรรม ความยั่งยืนและจริยธรรม และช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมมะพร้าวต่อไป

 

TCC มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการติดตามและซื้อมะพร้าวจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้ ซึ่งปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยสวัสดิภาพสัตว์ของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2563 TCC เป็นบริษัทแรกของอุตสาหกรรมที่เริ่มการตรวจสอบภายในและภายนอกโดย บูโร เวอริทัส ผู้ตรวจสอบระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียง เพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทได้รักษามาตรฐานเหล่านี้ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ การตรวจสอบมีจุดมุ่งหมายเพื่อประเมินการดำเนินงานของบริษัท รวมถึงการทำงานของพันธมิตรอย่างเกษตรกรและซัพพลายเออร์ในท้องถิ่น และจากการตรวจสอบของบูโร เวอริทัส ในเครือข่ายที่ตรวจสอบแล้วในประเทศไทยยืนยันว่า TCC ประสบความสำเร็จในการเก็บเกี่ยวโดยปราศจากลิง

 

จากความสำเร็จในครั้งแรก TCC ได้ตัดสินใจขยายข้อกำหนดด้านการตรวจสอบเชิงรุกควบคู่ไปกับกระบวนการตรวจสอบภายใน โดย TCC เริ่มการตรวจสอบภายนอกครั้งที่สองในช่วงไตรมาสที่ 1 พ.ศ. 2564 ซึ่งดำเนินการโดยบูโร เวอริทัส โดยมีข้อกำหนดด้านการตรวจสอบเพิ่มเติมและครอบคลุมขอบเขตซัพพลายเออร์ที่กว้างขึ้น ซึ่งรวมถึงสวนมะพร้าวในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง

 

แผนการตรวจสอบสถานะสวนมะพร้าวโดยปลอดแรงงานลิง (The Monkey-Free Coconut Due Diligence Assessment) จัดทำโดย บูโร เวอริทัส จะครอบคลุมสวนมะพร้าวและซัพพลายเออร์ใน 4 จังหวัด (สมุทรสงคราม, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ และนครศรีธรรมราช) โดยตั้งเป้าตรวจสอบ 50 % ของสวนที่ลงทะเบียนในปี 2563 โดยเน้นสวนที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบในปีที่ผ่านมา และสวนใหม่ 100 % ที่ลงทะเบียนในปีนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานและข้อกำหนดของ MOU ของบริษัท ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพิสูจน์ว่าห่วงโซ่อุปทานของ TCC ได้ดำเนินงานตามแผนการตรวจสอบของบูโร เวอริทัส ทั้งนี้ การตรวจสอบจะมุ่งเน้นไปที่วัตถุประสงค์หลักสามประการ ได้แก่

 

1.เปรียบเทียบแนวทางปฏิบัติงานในปัจจุบันของสวนที่ได้รับการคัดเลือกจากจังหวัดเป้าหมาย ซึ่งระบุอยู่ในแผนการตรวจสอบสถานะสวนมะพร้าวโดยปลอดแรงงานลิงของบูโร เวอริทัส

2.การพิจารณาว่าแต่ละสวนได้ดำเนินงานตามข้อกำหนดของหรือไม่ และ TCC ได้ดำเนินการตามแผนการหรือไม่

3.ระบุช่องโหว่หรือการละเลยข้อปฏิบัติ และแสดงความคิดเห็นในการปรับปรุงตามหลักฐานที่พบในระหว่างการประเมินในสถานที่จริง  

 

ทั้งนี้ เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบสมบูรณ์ สมาชิกของ บูโร เวอริทัส จะเข้าตรวจสอบสวนที่ถูกคัดเลือกและวิเคราะห์การปฏิบัติงานอย่างรอบด้าน โดยใช้รายการตรวจสอบตามรายงานการประเมินผล (Scheme Assessment Report checklist) ที่ได้รับอนุมัติแล้วและรายการตรวจสอบในสถานที่จริง ผลการประเมินจะพิจารณาจากการเข้าตรวจสอบสถานที่จริงการสัมภาษณ์บุคลากรหลัก และการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง รายงานนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ การปลูกมะพร้าว การบริหารจัดการและการตรวจสอบสวนมะพร้าวกำลังการผลิตและความสอดคล้องของซัพพลายเออร์วิธีการและความสามารถในการเก็บเกี่ยวและการปรึกษาผู้ถือผลประโยชน์ร่วมในท้องถิ่น หลังจากการปรึกษาหารืออย่างอิสระ บูโร เวอริทัสจะรายงานผลการตรวจสอบต่อผู้บริหาร TCC พร้อมข้อคิดเห็นเพิ่มเติมเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น

 

จากผลการตรวจสอบโดย บูโร เวอริทัส ครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2563 สรุปได้ว่าไม่มีหลักฐานการใช้แรงงานลิงในการกระบวนการเก็บเกี่ยวมะพร้าวขององค์กร สำหรับการตรวจสอบภายนอกครั้งที่สอง ช่วงระยะเวลาที่หนึ่งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 บูโร เวอริทัส ยืนยันเพิ่มเติมว่า ไม่มีหลักฐานการใช้แรงงานลิงในจังหวัดราชบุรีและสมุทรสงคราม

 

แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ในประเทศไทย ขณะนี้ TCC และ บูโร เวอริทัส จำต้องเลื่อนการตรวจสอบภายนอกช่วงระยะที่สองออกไป จนกว่าสถานการณ์โรคระบาดจะดีขึ้น ซึ่งในที่นี้ครอบคลุมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และนครศรีธรรมราช ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้ตรวจสอบ พนักงานและเกษตรกร

 

อย่างไรก็ตาม TCC ยังคงให้ความสำคัญต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหนึ่งในค่านิยมของบริษัทมายาวนาน  และสานต่อความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำการเพาะปลูกที่ปราศจากการใช้แรงงานลิงในประเทศไทย TCC ได้ประกาศความร่วมมือกับมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือลิงที่ถูกทารุณในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมของประเทศให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

 

ทั้งนี้ TCC วางแผนที่จะดำเนินการขยายและปรับปรุงข้อกำหนดและแนวทางการปฏิบัติด้านการตรวจสอบเชิงรุกทั้งภายใน และภายนอกอย่างต่อเนื่อง เพื่อปูทางให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมรายอื่นๆ ได้ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตาม ด้วยความพยายามของ TCC ในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมที่มีนวัตกรรมและจริยธรรม ทั้งหมดนี้นับเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของภาคอุตสาหกรรมมะพร้าวที่กำลังจะก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

 

 

 

Contact Us